ประกาศโครงการสนับสนุนทุนการสร้างสรรค์สื่อ และกิจกรรมเพื่อสุขภาวะ (Co-creative Project) ประจำปี 2562
โครงการสนับสนุนการสร้างสรรค์สื่อ เเละกิจกรรม เพื่อสุขภาวะ
(Co-creative Project)
รู้จัก สสส.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 อยู่ภายใต้การ กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
ทำหน้าที่ “จุดประกาย กระตุ้น สนับสนุน และประสานความร่วมมือกับกลุ่มบุคคล องค์กร และชุมชนทั่วไป” (ภาคี สร้างเสริมสุขภาพ) โดยมุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพดีครบสี่ด้าน กาย จิต ปัญญา สังคม เพื่อร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ โดยไม่จำกัดกรอบวิธีการ และยินดีเปิดรับแนวทาง ปฏิบัติการใหม่ๆ ที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำไปสู่การขยายค่านิยม และการสร้างพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและกว้างขวาง ซึ่งนับเป็นองค์กรด้านสุขภาพรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับมติของสมัชชาสุขภาพโลกด้านการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
รู้จักโครงการสนับสนุนการสร้างสรรค์สื่อ เเละกิจกรรม เพื่อสุขภาวะ (Co-creative Project)
- โครงการ Co-creative Project เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ ฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม (Social Marketing ) ของ สสส.
- โครงการ Co-creative Project เกิดขึ้น เพื่อเป็นกลไกเข้าไปร่วมสนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร ชุมชน หรือหน่วยงานใดๆ ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการพัฒนาสื่อ กิจกรรม และแผนงานการตลาดเพื่อสังคม ที่มีเป้าหมายสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนคนไทย (ไม่ใช่เพื่อการค้า ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง แต่ทำเพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม)
- ความร่วมมือที่เกิดขึ้น อาจเป็นในรูปแบบงบประมาณ หรือการให้คำแนะนำปรึกษา ในการพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงความร่วมมือในการเชื่อมขยายเครือข่ายในการทำงาน สร้างเสริมสุขภาวะให้เป็นไปตามเป้าหมายโครงการ
ลักษณะโครงการที่เปิดรับ
โครงการจัดทำสื่อ หรือกิจกรรม หรือแผนงานการตลาดเพื่อสังคม เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ หมายถึง การจัดทำสื่อ หรือกิจกรรม หรือแผนงานการตลาดเพื่อสังคม ที่มีเป้าหมายวัตถุประสงค์ และมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงมีวิธีดำเนินการ ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ ลักษณะโครงการที่เปิดรับ ได้แก่
- สื่อสร้างเสริมสุขภาวะ หมายถึง การพัฒนาชิ้นงานใดๆที่ทำหน้าที่สื่อสาร สร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ สร้างความตระหนัก หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรม ให้กับผู้รับสาร และเกิดประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาวะ โดยไม่มีข้อจำกัดรูปแบบการนำเสนอ
- กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะ หมายถึง กิจกรรมใดๆ ทั้ง กิจกรรมเชิงวิชาการ กิจกรรมให้ความรู้ กิจกรรมจัดอบรม กิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาวะ ไม่จำกัดรูปแบบในการนำเสนอ แต่ต้องมีการกำหนดเป้าหมายและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ในการสร้างเสริมสุขภาวะที่เกิดประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด
- แผนงานการตลาดเพื่อสังคม หมายถึง แผนงานที่ใช้หลักคิดและกลยุทธทางการตลาด เพื่อมุ่งเป้าหมายสร้างการรับรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและหรือพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาวะ
เปิดรับโครงการทุกเดือน และจะทราบผลการพิจารณา ภายใน 45 วันทำการ นับจากวันที่ สสส. ได้รับเอกสารโครงการ
(สำหรับโครงการที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ และต้องมีการติดต่อขอรับเอกสารเพิ่มเติม จากผู้นำเสนอโครงการ การพิจารณาอาจจะเกิน 45 วันทำการ)
กลุ่มเป้าหมาย ที่โครงการคาดหวังในการสร้างเสริมสุขภาวะ
กลุ่มเป้าหมายหลัก
เด็ก เยาวชน และครอบครัว วัยรุ่น กลุ่มด้อยโอกาส ประชากรกลุ่มเสี่ยง
กลุ่มเป้าหมายรอง
ประชาชนทั่วไป
คุณสมบัติของผู้เสนอโครงการ
- ผู้ได้รับทุน/ผู้รับผิดชอบโครงการ จะต้องไม่เคยมีประวัติที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญารับทุนของ สสส. หรือมีพฤติการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ สสส. หรือ บุคคลอื่น
- เป็นบุคคล คณะบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กร ที่ดำเนินงานโดยไม่แสวงหาผลกำไร มีจิตอาสา หรือมีการดำเนินงานในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม
- มีความเชี่ยวชาญในประเด็นเนื้อหาที่ดำเนินการ มีบทบาทหน้าที่และภารกิจที่เกี่ยวข้อง พร้อมแนบผลงานหรือประสบการณ์ดำเนินงานมาให้พิจารณา
- มีเวลาและทีมงานหลักที่พร้อมดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามเวลาที่กำหนด
ลักษณะโครงการที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สนับสนุน
- มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจหรือการเมืองที่ขัดแยังกับวัตถุประสงค์ของกองทุน สสส. เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ
- ขอทุนสนับสนุนที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจโดยทางตรงหรือทางอ้อม
- โครงการที่ให้บริการในลักษณะสงเคราะห์ เช่น การจัดซื้อยา อุปกรณ์การแพทย์ ตรวจร่างกาย การแจกอาหาร หรือให้สวัสดิการ ช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งด้านการรักษาพยาบาล
- โครงการที่เป็นการจัดหาครุภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ขนาดใหญ่ หรือสิ่งก่อสร้าง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ออกกำลังกาย การก่อสร้างอาคาร ลานกีฬา การสร้างห้องฟิตเนส ซื้อคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
- โครงการที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการหาทุน หากำไร ลงทุนเพื่อแสวงหากำไร จัดตั้งกองทุนต่างๆ การให้รางวัล และการจัดซื้อรางวัล
- โครงการที่เป็นงานประจำของหน่วยงานนั้นอยู่แล้ว
- โครงการที่มีค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นเงินเดือน ค่าตอบแทนรายเดือน หรือ ค่าใช้จ่ายสำนักงาน
ลักษณะโครงการที่เข้าข่ายการพิจารณา
- รายละเอียดโครงการครบถ้วน ระบุสภาพปัญหาของพื้นที่/ชุมชนชัดเจน มีเป้าหมายที่ส่งผลเป็นประโยชน์ในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะ ทั้งระบุผลลัพธ์ชัดเจน วัดผลได้
- เสนองบประมาณที่สมเหตุสมผล หรือมีทรัพยากรสมทบจากองค์กรหรือหน่วยงานอื่น
- เนื้อหามีประเด็นสุขภาวะที่ชัดเจน และมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเพิ่มเติมได้
- หากเป็นโครงการต่อเนื่องจากที่เคยรับทุนสสส. ต้องมีการต่อยอดหรือขยายผลที่เป็นการยกระดับการดำเนินงานอย่างชัดเจน และแสดงเหตุผลหรือข้อมูลว่าจะเพิ่มคุณค่าหรือต่อยอดจากโครงการเดิมอย่างไร
- มีการบริหารโครงการเป็นลักษณะจิตอาสา ไม่ใช่เป็นลักษณะการรับจ้างเพื่อทำโครงการ
- มีความตั้งใจและเห็นคุณค่าในการทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะจริง โดยทุนของ สสส.เป็นเพียง “น้ำมันหล่อลื่น” คือเป็นทุนเริ่มต้นให้โครงการริเริ่ม เพื่อดำเนินการต่อจนยั่งยืน และพึ่งตนเองได้ โดยไม่พึ่งพิงทุนจาก สสส. ตลอดไป
- เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่องานกิจการด้านสังคม (CSR) ให้กับองค์กรอื่นๆได้ศึกษาต่อไป
- เป็นโครงการที่ส่งผลสืบเนื่องด้านสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายในระยะยาว
ขั้นตอนการดำเนินงาน
(เปิดรับโครงการตลอดทั้งปี พิจารณา ภายในระยะเวลา 45 วัน)
ยื่นข้อเสนอโครงการออนไลน์ (eProposal) โดยคลิกที่ link นี้
http://eproposal.thaihealth.or.th
สำคัญ!!
1. โปรดเลือกประเภทโครงการ “พัฒนาและปฏิบัติการ”
2. เมื่อกรอก e-proposal ครบทุกขั้นตอนแล้ว ให้กดส่งมาที่ “ฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม” (ไม่ต้องระบุชื่อผู้ประสานงาน)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
1. คุณธนาวดี องค์อินทรี โทร. 081-6125129
2. คุณมิณฑิรา ปัณณปวิณ โทร. 063-2462145
โทร. 02-343-1500 อีเมล: cocreativeproject@thaihealth.or.th