ประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการทบทวนและประเมินผลกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544-2564
ประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการ
โครงการทบทวนและประเมินผลกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544-2564
หลักการและเหตุผล
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ที่กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (กองทุนฯ) ได้ทำหน้าที่จุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลังบุคคล และองค์การทุกภาคส่วน ซึ่งมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ และนักวิชาการ ร่วมขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้บรรลุผลในการลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความเชื่อ และการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อคุณภาพชีวิต ช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน และในโอกาสที่กองทุนฯ กำลังจะครบสองทศวรรษในปี 2564 คณะกรรมการประเมินผลฯ ชุดปัจจุบัน จึงจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานในรอบ 20 ปีของกองทุนฯ เพื่อทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า กองทุนฯ ได้ดำเนินงานมาในทิศทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ มีการตอบสนองต่อสถานการณ์และบริบททางสังคม รวมทั้งมีการปรับตัวสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งการดำเนินการได้ช่วยสนับสนุนให้เกิดกระบวนการในการสร้างวัฒนธรรมการสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion Culture) ที่ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นยังจะทำให้ได้ข้อเสนอแนะในการกำหนดทิศทาง เป้าหมาย บทบาทการทำงาน รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงานและการบริหารจัดการของกองทุนฯ ในการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะในอนาคตต่อไป
เพื่อให้การทบทวนและประเมินผลครั้งนี้ บรรลุตามวัตถุประสงค์ข้างต้น สสส. จึงเปิดรับข้อเสนอโครงการ “ทบทวนและประเมินผลกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544-2564” ทั้งนี้ นักประเมินผล/หน่วยงานที่สนใจ สามารถยื่นข้อเสนอโครงการภายใต้ข้อกำหนดขอบเขตการทบทวนและประเมินผล (Term of Reference – TOR) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544-2564 (ดังเอกสารแนบ) ภายในวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564
คุณสมบัติของผู้ประเมินผลหรือผู้เสนอโครงการ
- คุณสมบัติของหน่วยประเมินผล
1) หน่วยประเมินผล เป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการในระดับประเทศ และต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้ด้านการประเมินผลในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการบริหารยุทธศาสตร์ ด้านการบริหารองค์การขนาดใหญ่ ด้านการบริหารรัฐกิจ/ราชการ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการตลาด นักสังคมวิทยา/นักมานุษยวิทยา พร้อมทั้งมีความรู้ ความเข้าใจในงานสร้างเสริมสุขภาพเป็นอย่างดี และผลงานความเชี่ยวชาญด้านการประเมิน มีประสบการณ์ในการทำงาน/ประเมินผลงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ และเข้าใจบริบทการทำงานของภาคี กองทุนฯ และ/หรือ มีประสบการณ์ประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ/องค์การมหาชน (ขอให้แนบผลงานการประเมินที่เคยดำเนินงานเพื่อประกอบการพิจารณา)
2) ผู้ประเมินต้องมีคุณสมบัติที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล มีประวัติการทำงานดีน่าเชื่อถือ รวมทั้งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest: COI) เพื่อมิให้เกิดอคติในการประเมิน โดยยึดถือกรอบจรรยาบรรณนักประเมิน อันประกอบด้วยหลักการ 5 ด้าน คือ (1) การประเมินต้องเป็นไปอย่างเป็นระบบ (2) ประเมินด้วยความสามารถทางวิชาชีพ (3) ประเมินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต (4) ประเมินอย่างใส่ใจต่อบุคคล และ (5) ประเมินอย่างรับผิดชอบต่อส่วนรวม
3) ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ต้องจัดหาทีมงานที่มีความรู้ครอบคลุมสาขาที่เกี่ยวข้องในการประเมินผล - ผู้เสนอต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานของ สสส. หรือไม่เป็นผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานของทางราชการและได้แจ้งเวียนชื่อแล้วหรือไม่เป็นผู้ได้รับผลของการสั่งให้นิติบุคคลหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ
- ผู้เสนอต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อว่าเป็นคู่สัญญาที่ไม่ได้แสดงบัญชีรายรับรายจ่าย หรือแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนในสาระสำคัญตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้เสนอต้องไม่เป็นผู้ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกัน ซึ่งอาจปฏิเสธไม่ยอมขึ้นศาลไทย เว้นแต่รัฐบาลของผู้เสนอได้มีคำสั่งให้สละสิทธิ์หรือความคุ้มกันเช่นว่านั้น
การพิจารณาข้อเสนอโครงการ
สสส. จะพิจารณาข้อเสนอโครงการที่มีรายละเอียดครบถ้วนตามเงื่อนไขภายใต้ขอบเขตการทบทวนและประเมินผล โดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการ ที่ สสส. กำหนด
ระยะเวลาเสนอโครงการเพื่อขอรับทุน
- เปิดรับโครงการ ตั้งแต่ 12 พฤษภาคม – 25 มิถุนายน 2564
(ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 สิงหาคม 2564 – 31 กรกฎาคม 2565 รวม 365 วัน)
ขั้นตอนการยื่นข้อเสนอโครงการ
- ส่งไฟล์ข้อเสนอโครงการตามแบบฟอร์มที่กำหนด ในรูปแบบ ms word และ pdf พร้อมไฟล์เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ส่งไฟล์หนังสือนำส่งข้อเสนอโครงการ ที่มีการลงนามจากผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานต้นสังกัดผู้รับผิดชอบโครงการ
ทั้งนี้ ส่งไฟล์เอกสารดังกล่าวไปยัง ฝ่ายติดตามและประเมินผลที่อีเมล : evaluation@thaihealth.or.th ภายในวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2564 และขอสงวนสิทธิ์ไม่พิจารณาข้อเสนอโครงการที่ส่งภายหลังระยะเวลาที่กำหนด และ/หรือ มีรายละเอียดไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไข
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายติดตามและประเมินผล
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โทรศัพท์: 02-343-1500
e-mail : evaluation@thaihealth.or.th
ดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- ข้อกำหนดขอบเขตการทบทวนและประเมินผล (Term of Reference-TOR) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544-2564
- แบบเสนอโครงการวิจัยและประเมินผล
- แบบรายงานข้อมูล ผู้รับทุน/ ผู้รับผิดชอบโครงการ/ ผู้ร่วมโครงการเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสีย/ผลประโยชน์ทับซ้อน (COI) ในการดำเนินงานโครงการ
- (5 years) Many Things to many People Review of ThaiHealth (January 2017)
- (10 years) Review of ThaiHealth Promotion Foundation (N0v 2001 – Nov 2011)
- พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544
- คู่มือผู้รับทุนตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 ที่ https://www.thaihealth.or.th/Content/54249-คู่มือผู้รับทุนตั้งแต่ปีงบประมาณ-2564.html